วันพฤหัสบดีที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

ภาวะสมองเสื่อม

เรียบเรียงโดย พีระนันทิ์  จีระยิ่งมงคล

          ภาวะสมองเสื่อมพบมากในผู้สูงอายุ แต่ไม่ได้หมายความว่า ผู้สูงอายุทุกคนจะต้องมีภาวะสมองเสื่อม เพราะว่าภาวะสมองเสื่อมนั้นไม่ได้เกิดจากความชราภาพ เท่านั้น แต่ยังเกิดจากปัจจัยหลายอย่างที่ส่งผลต่อภาวะสมองเสื่อม เช่น ภาวะโรคหลอดเลือดสมอง  โรคหลอดเลือดหัวใจ ความดันโลหิตสูง  และภาวะเบาหวาน รวมทั้งผู้ที่สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ หรือผู้ที่มีประวัติครอบครัวมีภาวะสมองเสื่อม เป็นต้น  โดยผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อม จะสูญเสียความจำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความจำระยะสั้นซึ่งจะเป็นอาการที่นำมาก่อนอาการอื่น ๆ นอกจากนี้ยัง  พบว่า ความจำเสื่อมจะมีผลต่อความสามารถในการตัดสินใจ  ความคิด การใช้ภาษา และจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรม และอารมณ์ รวมทั้งความสามารถในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวันลดลง  อีกด้วย
ทำอย่างไรจะป้องกันไม่ให้เกิดภาวะสมองเสื่อม ??


การป้องกันภาวะสมองเสื่อมเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมของเรานี่แหละซึ่งเป็นเคล็ดลับที่ทำได้ง่ายๆมาฝาก


  1. การรับประทานอาหาร ที่ช่วยบำรุงสมอง ลดการเสื่อมของสมอง เช่น ขมิ้นมีสาร Curcumin ต้าน การอักเสบช่วยลดการเสื่อมของสมอง จมูกข้าวข้าวกล้อง ซึ่งมีสารโคลีน ช่วยในการสร้างสื่อประสาทของเซลล์สมอง วิตะมิน บี ซี อี ช่วยบำรุงเซลล์สมอง ควรรับประทาน เนื้อปลา น้ำมันปลา ผักผลไม้ ซีลีเนียม คาโรตีนอยด์  รวมทั้งพริก ซึ่งมีสารแคปไซซินทำให้เลือดไหลเวียนผ่านเส้นเลือดขนาดเล็กในสมองได้ดี  
  2. ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีน้ำตาลและไขมันมาก  หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เพราะมีผลทำให้หลอดเลือดตีบ  หลีกเลี่ยงอลูมิเนียม ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อม ไม่ควรใช้ภาชนะอลูมิเนียม หรือไม่ใช้ภาชนะอลูมิเนียมบรรจุอาหารที่มีรสเปรี้ยวหรืออาหารที่มีกรดผสม เช่น แกงส้ม น้ำส้มสายชู เป็นต้น หลีกเลี่ยงโลหะหนัก เช่น ตะกั่ว ปรอททำลายสมองได้ จึงไม่ควรใช้กระดาษที่มีหมึกพิมพ์ห่ออาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารที่มีน้ำมันจะละลายหมึกพิมพ์ได้เพิ่มขึ้น เลี่ยงการกินอาหารข้างถนน โดยเฉพาะบริเวณใกล้อู่รถ เนื่องจากมีโอกาสได้รับฝุ่นจากไอเสียรถ หลีกเลี่ยงภาชนะใส่อาหารที่มีสีผสม
  3. ออกกำลังกาย จะช่วยกระตุ้นเซลล์สมอง ทำให้เซลล์สมองประสานงานกันได้ดี เช่น การเดิน และขี่จักรยานอย่างน้อยทุกวันเว้นวัน
  4. การพัฒนาสมอง การเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ หรือ การทำสิ่งใหม่ที่ไม่คุ้นเคย เช่น การฟังดนตรี เรียนศิลปะ เรียนภาษา เต้นรำ เล่นกีฬา หัดการใช้อุปกรณ์ใหม่ๆ จะช่วยกระตุ้นสมองของเราให้เกิดความคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ได้วิธีนี้จะเป็นวิธีที่ทำให้สมองมีการทำงาน นอกจากนี้การฝึกจำ เป็นการบริหารสมอง เช่นฝึกจำตัวเลข เบอร์โทรศัพท์ท่องศัพท์วันละ 10 คำ
  5. ลดความเครียด อาจฝึกสมาธิ และฝึกหายใจช้าๆ โดยนั่งในท่าผ่อนคลาย หายใจเข้าออกช้าๆ 
  6. พักผ่อนให้พอ 
Reference
สาระความรู้เกี่ยวกับสมอง,ศูนย์สมองและระบบประสาทโรงพยาบาลปิยะเวท, 
http://www.neuroctr.com/knowledgeepilepsy-sick-th.php



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Thank you for your share.